สนค. เผยตัวเลขส่งออกเดือน มิ.ย. 2567 ติดลบเพียง 0.3% เท่านั้น เหตุผลไม้ตะวันออกหมดฤดู การขนส่งทางเรือล่าช้า ขณะที่ครึ่งปีแรกยังบวก 2% มูลค่ากว่า 145,290.0 ล้านเหรียญสหรัฐ คาดครึ่งปีหลังยังมีปัจจัยบวก เชื่อยังโตได้ 1-2% จับตากำลังซื้อประเทศคู่ค้ากำลังฟื้นตัวส่งผลดีต่อไทย มองเลือกตั้งสหรัฐมีทั้งดีและเสีย หวั่นกำแพงภาษี แต่ความตึงเครียดสงครามลดลง
วันที่ 26 กรกฎาคม 2567 นายพูนพงษ์ นัยนาภากรณ์ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) กล่าวว่า การส่งออกของไทยเดือนมิถุนายน 2567 มีมูลค่า 24,796.6 ล้านเหรียญสหรัฐ (892,766 ล้านบาท) ติดลบ 0.3% เทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน
เป็นผลมาจากสินค้าผลไม้เข้าสู่ช่วงท้ายของฤดูกาล และผลกระทบด้วยจากเอลนีโญทำให้การส่งออกทุเรียนลดลง และในช่วง 3-4 เดือนที่ผ่านมา ต้องประสบกับปัญหาการเดินเรือที่ติดขัดเล็กน้อย ทำให้การส่งมอบสินค้าให้คู่ค้าล่าช้า โดยการนำเข้ามีมูลค่า 24,578.5 ล้านเหรียญสหรัฐ ขยายตัว 0.3% ดุลการค้าเกินดุล 218.0 ล้านเหรียญสหรัฐ ส่วนการส่งออกสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตรหดตัว 3.3% กลับมาหดตัวในรอบ 3 เดือน สินค้าที่หดตัว
คือ ผลไม้สด แช่เย็น แช่แข็ง และแห้ง แต่ทั้งนี้กลับมีสินค้าที่กลับมาขยายตัว เช่นข้าวขยายตัว 96.6% เช่นเดียวกันกับยางพาราขยายตัว 28.8% ขยายตัวต่อเนื่อง 8 เดือน ไก่แปรรูปขยายตัว 4% ขยายตัวต่อเนื่อง 4 เดือน อาหารสัตว์เลี้ยงขยายตัว 3.1% ขยายตัวต่อเนื่อง 9 เดือน ผลไม้กระป๋องและแปรรูปขยายตัว 6% ขยายตัวต่อเนื่อง 9 เดือน และไขมันและน้ำมันจากพืชและสัตว์ขยายตัว 147.7% ขยายตัวต่อเนื่อง 2 เดือน
ในส่วนของสินค้าอุตสาหกรรมที่หดตัวคือ ผลิตภัณฑ์ยาง เม็ดพลาสติก เคมีภัณฑ์ แผงวงจรไฟฟ้า เหล็ก เหล็กกล้า เครื่องยนต์สันดาปภายในแบบลูกสูบและส่วนประกอบ แต่ก็มีในส่วนที่ขยายตัวคือรถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ เครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ เครื่องจักรกลและส่วนประกอบ เครื่องโทรศัพท์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ
อย่างไรก็ตาม 6 เดือนแรกของปี 2567 (มกราคม-มิถุนายน) ยังมีมูลค่าการส่งออกอยู่ที่ 145,290.0 ล้านเหรียญสหรัฐ (5,191,014 ล้านบาท) ขยายตัว 2% เทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน การนำเข้ามีมูลค่า 150,532.6 ล้านเหรียญสหรัฐ ขยายตัว 3% ดุลการค้าครึ่งแรกของปี 2567 ขาดดุล 5,242.7 ล้านเหรียญสหรัฐ ภาพรวมในครึ่งปีแรกกลุ่มสินค้าเกษตรที่ยังส่งออกเป็นบวกยังคงเป็นข้าว บวกถึง 48.1% ยางพาราบวก 30.6% ไก่แปรรูปบวก 6.2% ส่วนผลิตภัณฑ์มันสำปะหลังที่ติดลบถึง 16.4% และผลไม้สด แช่เย็น แช่เเข็ง และแห้งที่ติดลบ 6%
สำหรับแนวโน้มครึ่งปีหลัง (กรกฎาคม-ธันวาคม 2567) ยังมีปัจจัยบวกหลายส่วน หากประเมินทั้งปี 2567 ส่งออกยังสามารถโตได้ 1-2% หากโตที่ 1% ค่าเฉลี่ยมูลค่าจะอยู่ที่ 23,297 ล้านเหรียญสหรัฐ และหากโตที่ 2% ค่าเฉลี่ยมูลค่าจะอยู่ที่ 24,248 ล้านเหรียญสหรัฐ ซึ่งหากเป็นไปตามนี้ปี 2567 จะเป็นปีที่ประเทศไทยส่งออกไปสูงที่สุดหรือเกิน 10 ล้านล้านบาท
แม้จะเป็นการส่งออกที่ไม่หวือหวา แต่ก็ไม่แย่ เพราะหากดูจากมูลค่าเฉลี่ยการส่งออกนับตั้งแต่ปี 2564-2566 (36 เดือน) มูลค่าจะอยู่ที่ 23,458 ล้านเหรียญสหรัฐ แต่มิถุนายน 2567 เพียงเดือนเดียวมีมูลค่าเฉลี่ยถึง 24,797 ล้านเหรียญสหรัฐแล้ว ดังนั้น ในช่วงที่เหลืออีก 6 เดือนของปีนี้ จึงไม่ใช่เรื่องยากหากไม่มีเหตุการณ์อะไรเข้ามาเป็นปัจจัยลบระหว่างทาง
สำหรับปัจจัยครึ่งปีหลังที่ต้องจับตาคือเรื่องของกำลังซื้อของประเทศคู่ค้า ในขณะที่ปัจจัยของค่าเงินบาทที่กำลังอ่อนค่ากลับจะเป็นแรงจูงใจให้คู่ค้าซื้อสินค้าของไทย และนั้นควรมองที่กำลังซื้อของคู่ค้าเป็นหลัก โดยมีปัจจัยเรื่องค่าเงินบาทเป็นปัจจัยเสริม โดย IMF ได้คาดการณ์ตัวเลขของเศรษฐกิจประเทศที่เป็นคู่ค้าสำคัญของไทยอย่างจีนและอินเดียว่า
ทั้ง 2 ประเทศนี้กำลังฟื้นตัว รวมถึงยุโรปด้วยเช่นกัน ดังนั้น ตลาดหลัก ๆ และตลาดใหม่ทั้งสหรัฐ ซาอุดีอาระเบีย ยังคงเป็นโอกาสของการส่งออกของประเทศไทยในบางสินค้า และอีกส่วนสำคัญคือตัวผู้ประกอบการเอง จำเป็นที่จะต้องปรับตัวเช่นเพื่อให้ได้ใช้วิกฤตเปลี่ยนเป็นโอกาสให้ได้
ส่วนกรณีการเลือกตั้งในหลายประเทศที่กำลังจะเกิดขึ้นในช่วงครึ่งปีหลัง โดยเฉพาะสหรัฐ กระทรวงพาณิชย์ยังไม่สามารถประเมินได้ว่าจะกระทบหรือส่งถึงความกังวลอะไร เนื่องจากยังต้องดูว่าใครจะได้เป็นประธานาธิบดี ซึ่งหากเป็นฝั่งกมลา แฮร์ริส เชื่อว่านโยบายเศรษฐกิจน่าจะยังคงเป็นเช่นเดิม และหากเป็นโดนัล ทรัมป์ อาจจะต้องจับตาดูเรื่องของกำแพงภาษี แต่อาจจะมีความคลี่คลายเรื่องของสงครามระหว่างประเทศลงก็เป็นได้
“ส่งออกกลับมาหดตัวเล็กน้อย แต่ถ้าดูจริง ๆ ดุลการค้าไทยเกินดุลต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 2 ในช่วงครึ่งปีแรกไทยยังต้องเจอกับภาวะการค้าโลกที่เริ่มมีความวิตกกังวลต่อแนวโน้มการใช้มาตรการกีดกันทางการค้า และความไม่แน่นอนของผลการเลือกตั้งในหลายประเทศ การเปลี่ยนแปลงเทคโนโลยีอย่างการเปลี่ยนผ่านจากรถสันดาปไปสู่ยานยนต์ไฟฟ้า (EV) ส่งผลให้ความต้องการของเครื่องยนต์สันดาปหดตัวลงอย่างชัดเจน
ภาพรวมการส่งออกไทยหดตัวเล็กน้อยตามความไม่แน่นอนของเศรษฐกิจประเทศคู่ค้า แต่การส่งออกไปหลายตลาดสำคัญยังขยายตัวได้ดีต่อเนื่อง ทั้งสหรัฐ CLMV ตะวันออกกลาง และละตินอเมริกา ที่ผ่านมากระทรวงพาณิชย์ ได้หารือเอกอัครราชทูตญี่ปุ่นประจำประเทศไทยเพื่อขยายโอกาสทางการค้า โดยกระทรวงพาณิชย์ของไทยขอให้ญี่ปุ่นเพิ่มรายการนำเข้าสินค้ากล้วยหอมทอง และลดภาษีน้ำตาลทราย และยังได้ชักชวนนักลงทุนในอุตสาหกรรมยานยนต์ เครื่องมือแพทย์ หุ่นยนต์ และพลังงานสะอาด มาลงทุนในไทยและในพื้นที่ EEC
รวมถึงการนำผู้ประกอบการข้าวไทยเดินทางเยือนจีนเพื่อสร้างความเชื่อมั่น โดยกรมการค้าต่างประเทศนำสมาคมผู้ส่งออกข้าวไทยเดินทางเยือนเมืองกว่างโจวเพื่อพบปะผู้นำเข้า และผู้ประกอบการค้าข้าวในจีน เพื่อแลกเปลี่ยนความคิดเห็นการค้าข้าว พร้อมจัดกิจกรรมประชาสัมพันธ์ข้าวไทย แสดงศักยภาพ ในฐานะผู้ส่งออกข้าวที่มีคุณภาพและมาตรฐานระดับโลก และมีแผนที่จะใช้อินฟลูเอนเซอร์ และบล็อกเกอร์ มาช่วยประชาสัมพันธ์ผ่านช่องทางยอดนิยมของกลุ่มคนวัยรุ่นจีนอย่าง TikTok หรือ WeChat Channel ซึ่งน่าจะเป็นการสร้างบรรยากาศการค้าในครึ่งปีหลังได้มาก
แหล่งที่มา : ประชาชาติธุรกิจ